เช้าสดใส ของวัย สว.

ดอกไม้สีสวย หมาน้อยเริงร่า หรือทุ่งหญ้าสีเขียว พร้อมประโยคหวานๆ หรือข้อความคิดบวกที่ถูกส่งต่อๆ กันใน LINE บางคนอาจว่า น่าขำ

แต่กับ สว. ทั้งหลาย รู้ไหม.. นี่มัน วาระแห่งชาติเชียวนะ!

“แตกตื่นมากกเลยค่ะ” เสียงตอบในทันทีจาก ‘ครูเจี๊ยบ’ สุธีรา จำลองศุภลักษณ์ เมื่อถามถึงปฏิกริยาที่มีต่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ของบรรดาลูกศิษย์รุ่นใหญ่แห่งชมรม OPPY CLUB “ชมรมโอพีพีวาย...สูงวัยหัวใจไฮเทค” หลังจากมีข้อความส่งต่อกันว่า ให้ “หยุดส่งต่อ” ภาพซีรีส์สวัสดีทั้งหลาย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการเซฟรูปจากอินเทอร์เน็ตที่ไม่ปรากฏเครดิตผู้สร้างสรรค์

 

แม้จะมีผู้รู้มาอธิบายในตอนหลังว่า สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการนำมาใช้ส่วนตัว และไม่ได้เป็นไปเพื่อการค้า แต่ระหว่างกำลังแตกตื่นหาคำตอบว่า ตกลงทำได้ไม่ได้อย่างไร ปรากฏว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนไลน์กรุ๊ปหลายๆ กลุ่มจะเงียบเหงา ขาดสีสันสดใสไปโดยปริยาย

 

“คิดว่า ป้าไม่สบาย เห็นไม่ส่งข้อความมา ถึงกับต้องโทรไปถามเลยค่ะ ว่า สบายดีมั้ย” เปิ้ล เล่าถึงป้าของเธอที่อยู่ดีๆ ก็หายเงียบ ไม่ส่งภาพสวัสดีมาทักทายกันจนถึงกับเป็นห่วงต้องโทรไปถามไถ่

 

สูงวัย ไม่ไก่กา

แน่นอนว่า ป้าของเปิ้ลไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกตระหนกกับกฎหมายตัวใหม่ แล้วก็ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่รู้สึกหวาดๆ กับการตีกรอบคำว่า “ละเมิดลิขสิทธิ์” โดยกฎหมายฉบับดังกล่าว แต่สำหรับ ‘ป้าแอ๊ด’ พจมาน มยุรา แม่บ้านเกษียณวัย 64 เธอตอบอย่างชิลล์ๆ ว่า ไม่ได้ตกใจอะไร เพราะที่ผ่านมา เธอก็ทำรูปเหล่านั้นด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการอยู่แล้ว โดยไม่ได้ก๊อปรูปผลงานใครมาทั้งสิ้น

 

“หมูหมากาไก่ ดอกไม้ที่บ้านนั่นแหละค่ะ ถ่ายมาเลย แล้วก็อยากจะใส่ข้อความอะไรก็ใส่เข้าไป” เธอบอก ก่อนจะเสริมว่า จริงๆ ที่กังวลคือ เรื่องเพลงมากกว่า เพราะชอบตัดต่อวิดีโอแล้วเอาเพลงจากยูทูบมาใส่ ก็เกรงว่า จะผิดลิขสิทธิ์

 

สำหรับ ป้าแอ๊ด ผู้มีอายุเป็นเพียงตัวเลข ให้สัมภาษณ์กับจุดประกาย หลังเสร็จจากการชมภาพยนตร์แอ็คชั่นมันๆ อย่าง Mission: Impossible - Rogue Nation พร้อมบอกว่า “นี่ถ้าไม่ได้มีนัดต่อ ว่าจะดู Ant-Man ต่อเลยนะคะเนี่ย (หัวเราะ)”

 

วันนี้ แม่บ้านวัยเกษียณอย่างเธอ มีงานอดิเรกแสนโปรด คือ การคอยอัพเดทเทคโนโลยีต่างๆ พร้อมเรียนรู้การใช้งานอย่างสนุกสนาน โดยหลักๆ ก็ลงเรียนที่ OPPY club ซึ่งเปิดสอนวิชาเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็น เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ ไอแพด แอปพลิเคชั่นต่างๆ จนถึงระดับแอดวานซ์ สอนตัดต่อวิดีโอด้วยตัวเอง

 

“สำหรับไอแพดเรามีสอนทั้งสิ้น 16 หลักสูตรค่ะ มีตั้งแต่ การใช้งานพื้นฐาน การรับส่งอีเมล วิธีดาวน์โหลดแอปฯ การสื่อสารด้วย Skype, twitter, line ไปจนถึงการตกแต่งภาพ และตัดต่อวิดีโอโดยใช้ไอแพด” ครูเจี๊ยบ บอก

 

และสำหรับลูกศิษย์ดีเด่นอย่าง ป้าแอ๊ด เธอจบหมดแล้วทั้ง 16 คอร์สสุดชิลล์ ที่ทำให้วันนี้ ผลงานของเธอกลายเป็นต้นตอหนึ่งของบรรดาภาพที่ส่งต่อๆ กันไป โดยนอกจากซีรีส์ภาพสวัสดีแล้ว ป้าแอ๊ดยังไม่เบื่อที่จะทำการ์ดอวยพรให้คนพิเศษ ตัดต่อวิดีโอให้กับแก๊งเพื่อนๆ อัพโหลดขึ้นยูทูบให้เอาไปดูกันได้

 

“ตอนนี้กำลังเห่อแมคบุ๊คค่ะ เพิ่งซื้อมา กำลังหัดเล่น นี่ก็ลงเรียนไปแล้วหลายตัว” เธอบอก เมื่อถูกถามว่า กำลังเห่ออะไรเป็นพิเศษ

 

ไม่แก่เกินไลน์

“อยากได้ภาพเคลื่อนไหว แบบที่มีเพลงเอาส่งให้เพื่อนในไลน์ ต้องทำยังไง??” คำถามถูกโยนลงมากลางวงโดยสมาชิก สว. ท่านหนึ่งในคลาส “สอนผู้สูงวัยใช้สมาร์ทโฟน” ซึ่งเป็นกิจกรรมประจำสัปดาห์ของสมาคมบ้านปันรักที่รับสมัครคุณครูจิตอาสามาช่วยสอนวิธีการใช้สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ตรุ่นต่างๆ

 

ลักษณะการเรียนการสอนก็เป็นอย่างง่ายๆ ไม่ได้มีครูหน้าห้อง แต่แบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ อยากรู้อะไร สงสัยเรื่องไหน ก็ถามกับน้องๆ จิตอาสาได้เลย

 

สำหรับมือใหม่หัดไลน์อย่าง ยาย ‘หงส์’ อายุ 73 สถานะโสดสนิท อาศัยอยู่คนเดียว นานๆ หลานจึงจะมาเยี่ยมสักครั้ง ก็เป็นนักเรียนน้องใหม่ของบ้านปันรัก โดยมาเรียนได้ 4 ครั้งแล้ว และทุกครั้งที่มา ยายจะมาพร้อมลิสต์คำถามที่จดมาละเอียดยิบเพื่อเตรียมมาถามหลานๆ จิตอาสา และเช่นเดียวกัน คือ เมื่อได้คำตอบ ยายก็จะจดมันลงไปอย่างละเอียดเช่นกัน

 

“ที่จดละเอียดมาก เอาจริงๆ พอกลับไปทำ ก็มีเยอะที่ไม่เข้าใจ มันต้องฝึกนะ ของแบบนี้ เราก็ไม่ค่อยมีเวลาฝึก หลานสาวเขาก็บอกให้พยายามฝึก ใช้บ่อยๆ แต่ก็ไม่ค่อยได้ใช้น่ะค่ะ” เจ้าตัวเอ่ยอย่างเขินๆ กับอาการเรียนๆ ลืมๆ ของตัวเอง

 

เดิมที ยายหงส์ไม่เคยสนใจจะใช้สมาร์ทโฟนมาก่อน เพิ่งจะมามีเครื่องแรกก็เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว เพราะลูกพี่ลูกน้องที่อยู่ต่างประเทศบอกให้ซื้อมาใช้ จะได้ไลน์คุยกัน ไม่ต้องเปลืองค่าโทรศัพท์

 

“เขาหาว่า เราเชย จริงๆ ก็ตั้งหลักอยู่นาน จนลูกของหลานเขาพาแม่เข้าไปดู แล้วก็ชวนยายไป ด้วย ก็เลยไปดูกัน ตั้งใจจะซื้อยู่แล้ว ก็เลยซื้อเลย จะได้เสร็จธุระ ไม่งั้นเขาก็ต้องพาเราไปอีกเที่ยวนึง พอซื้อแล้ว เขาก็ตั้งให้ เซ็ทไลน์ญาติๆ มาให้ ยายก็ใช้เป็นแค่นั้น หลักๆ ก็ใช้ไลน์ กับโทรเข้าโทรออก ถ่ายรูปได้บ้าง”

 

ส่วน เยาวเรศ ชูศรี แม่บ้านลูกสาม ที่ลูกๆ โตทำงานทำการกันหมดแล้ว ยามว่างก็มาเรียนภาษาจีนที่บ้านปันรัก และเพิ่งจะมาเรียนสมาร์ทโฟนได้ไม่นาน

 

“ปกติมาเรียนภาษาจีนที่นี่อยู่แล้ว แต่ไม่เคยรู้ว่า เขาสอนเรื่องนี้ (สมาร์ทโฟน) ด้วย เพราะตอนแรกเค้าใช้ชื่ออิเลกทรอนิกส์อะไรซักอย่าง ก็ไม่รู้ว่า มันคืออะไร แต่ก็สงสัยว่า ทำไมรองเท้าเยอะจัง พอรู้ว่า เขาสอนใช้โทรศัพท์ ใช้ไอแพด ก็เลยมาเรียนบ้าง” เยาวเรศเอ่ย

 

และเล่าถึงประสบการณ์การใช้สมาร์ทโฟนเครื่องมือสองที่ลูกสาวยกให้หลังจากถอยเครื่องใหม่ โดยบอกว่า เมื่อก่อนก็อาศัยถามลูกเอา แต่ส่วนมากลูกจะทำให้เลย โดยไม่ได้สอน ก็เข้าใจเพราะรู้ว่า ลูกเหนื่อย แต่ด้วยความที่อยากใช้เองเป็นบ้าง ก็เลยมาหาเรียนเองเลยดีกว่า

 

“อยู่บ้านก็เล่นเรื่อยๆ แต่บางทีก็เบื่อเหมือนกันนะ เพื่อนๆ ญาติๆ พอเขารู้ว่า เรามีไลน์ เขาก็ชอบส่ง สวัสดีตอนเช้า อะไรต่ออะไรมาให้ ถ้าเราไม่ส่งกลับก็รู้สึกว่า ไม่มีมารยาท ก็เลยต้องเขียนข้อความว่า อาจจะไม่ได้ส่งกลับนะ เยอะเหลือเกิน ก็บอกเขาตรงๆ ว่า เบื่อ(หัวเราะ) ส่วนเพื่อนในไลน์นี่เยอะมาก แล้วก็ไม่รู้จักกันเยอะเลย บางทีมีข้อมูลตลกๆ อะไร เขาก็ส่งเข้ามา ถามว่า เพลินมั้ย.. จริงๆ ก็ขี้เกียจอ่านนะ เปิดมา โห.. ยาวเหยียดเลย บางทีก็ไล่ดูหัวข้อว่า เกี่ยวกับอะไรบ้าง ถ้ามันน่าอ่านก็อ่าน อันไหนดูน่าเบื่อก็เขี่ยๆ ไป”

 

เธอยอมรับว่า มีไลน์ก็ทำให้ครอบครัวได้พูดคุยกันมากขึ้น โดยมีไลน์กรุ๊ปของครอบครัวด้วย แต่บางเรื่องก็ไม่คุยในกรุ๊ป โดยไปคุยส่วนตัว “อย่างตอนนินทาลูกอีกคนให้ลูกอีกคนฟัง(หัวเราะ)”

 

นอกจากไลน์ที่เล่นเป็นประจำแล้ว อีกหนึ่งประโยชน์จากโลกออนไลน์สำหรับเยาวเรศ คือ ข้อมูลมหาศาลที่รออยู่เสมอ ซึ่งที่ใช้บ่อยๆ ก็คือ การเสิร์ชหาชื่อเพลง โดยพิมพ์เนื้อบางช่วงที่พอจำได้ เมื่อได้ชื่อเพลงมา เธอก็จะนำชื่อเพลงไปค้นหาเนื้อเพลง ก่อนจะจดด้วยมือลงกระดาษ และกลับไปเปิดหาเพลงๆ นั้นบนยูทูบ

 

“เรามีเนื้อแล้วหนิ ก็หัดร้อง ก็เลยได้ร้องเพลงสมัยใหม่ด้วย ไม่ใช่ร้องแต่รวงทองอะไรพวกนั้น อยู่บ้านก็ร้อง แล้วก็นัดกับเพื่อนๆ ที่ชอบร้องเพลงเหมือนกัน ไปร้องเพลงที่ร้านอาหาร”

 

ใช้ให้เท่าทัน

ไม่ใช่แค่เด็กและเยาวชนเท่านั้น ที่สุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็น ‘เหยื่อ’ ในโลกออนไลน์ เพราะขณะที่เรากำลังระวังเด็กๆ ไม่ให้เพลี่ยงพล้ำ อย่าลืมที่จะสอดส่องผู้ใหญ่ในบ้านด้วยว่า เสพข้อมูลอะไร สนใจ หรือ หมกมุ่นกับอะไรมากเกินไปหรือไม่ เพราะอายุ ไม่มีผลอะไรกับโลกเสมือนใบนี้เท่ากับประสบการณ์การใช้งาน

 

ในส่วนของ OPPY club ครูเจี๊ยบบอกว่า ทางชมรมจะเน้นย้ำอยู่เสมอ ทั้งเรื่องการแชร์ข้อมูลที่อาจไม่เป็นจริง และอาจทำให้คนอื่นเดือดร้อน

 

“ในส่วนของเฟซบุ๊ค ครูก็จะบอกทุกคนว่า ให้โพสต์แต่เรื่องของตัวเองดีที่สุด นอกนั้นก็แค่อ่าน ไม่ต้องไปกดแชร์ หรือกดไลค์อะไรที่อาจจะสุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะช่วงการเมืองแรงๆ นี่ ต้องเตือนหนักมาก อีกเรื่องที่ต้องเตือนกันบ่อยๆ ก็เป็นข้อมูลจำพวกฟอร์เวิร์ดเมล โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ที่ต้องย้ำกันเสมอๆ ว่า ให้เช็คที่มาของข้อมูลให้ดี ก่อนจะเชื่อ หรือแชร์อะไรออกไป” ครูเจี๊ยบเอ่ย

 

“แก่แล้วดื้อหนักเลยค่ะ เตือนอะไรไปไม่ค่อยจะฟังกันเท่าไหร่หรอก” อีกเสียง จาก ป้าแอ๊ด ยืนยัน ถึงเพื่อนๆ ในวัยไล่เลี่ยกัน ที่ชอบแชร์ข้อมูลมั่ว อย่างล่าสุด คือ ภาพเขื่อนแตกที่ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งแค่ดู เธอก็ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมในภาพถึงมีป้ายภาษาไทย “ก็รีบแย้งกลับไปทันทีเลยค่ะ ว่า เอาภาพมาจากไหน มันน่าจะผิดนะ ไม่น่าจะใช่เรื่องจริง”

 

ป้าแอ๊ด บอกว่า แม้ปกติจะอ่านผ่านๆ บ้าง กับข้อความนับร้อยจากหลายๆ กลุ่มที่ส่งกันไปมา แต่ถ้าเห็นข้อความน่าสงสัยเมื่อไหร่ เธอจะไม่ปล่อยผ่าน โดยจะพยายามเช็คความจริงเสมอ และเมื่อได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้มา ก็จะเอากลับไปบอกเพื่อนฝูงให้เข้าใจเสียใหม่

 

“พยายามบอกเพื่อนๆ ตลอดเลยว่า เฟซบุ๊คน่ะเอาไว้เล่นทั่วๆ ไปได้ แต่ถ้าอยากได้ข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ คุณต้องไปเล่นทวิตเตอร์ ให้ไปตามคนที่มีความน่าเชื่อถือ หรือไม่ก็เปิดอ่านข่าวตามเว็บไซต์ก็ได้ มันน่าเชื่อถือกว่ากันเยอะ”

 

นอกจากความเท่าทันในข้อมูลที่อาจบิดเบือนหรือกระทบกระเทือนให้ใครต้องเดือดร้อนแล้ว อีกหนึ่งปัญหาคลาสสิคก็คือ การเสพติดโซเชียล ที่เป็นกันได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ใช่แค่เด็กวัยรุ่น หรือคนรุ่นใหม่ แม้กระทั่งรุ่นเดอะก็สามารถเป็นได้ อย่างเพื่อนของป้าแอ๊ด ที่ติดอย่างหนัก ชนิดที่ว่า กระเป๋าสั่นปุ๊บ หยิบมือถือมาดูปั๊บ!

 

ดาบสองคมบนโลกออนไลน์ ที่อาจเกิดขึ้นได้หากรู้ไม่ทัน แต่สามารถป้องกันได้ ขอเพียง ‘เวลา’ จากคนรอบข้าง ทั้งช่วยกันเป็นหูเป็นตา จนถึงการชักชวนให้หายเหงา เพราะอย่างไร ออนไลน์ก็ไม่ใช่โลกทั้งใบของชีวิต

 

วันที่ 6 สิงหาคม 2558
กรุงเทพธุรกิจ
โดย ปานใจ ปั่นจินดา 

ที่มา: www.bangkokbiznews.com/news/detail/659695

Visitors: 217,010