OPPY อุดช่องว่างเทคโนโลยี

รื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีนั้นกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศไทย เนื่องจากในชีวิตประจำวันและการทำธุรกิจย่อมหลีกหนีไม่พ้นไปจากการใช้เทคโนโลยี เพื่อการติดต่อสื่อสารทั้งในเรื่องส่วนตัว และการทำงานแต่คนไทยยังมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโยลีแตกต่างกันหลายมิติ เช่น มิติของพื้นที่คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีโอกาสใช้เทคโนโลยีมากกว่าคนที่อาศัยอยู่นอกเมือง ในมิติของอายุ เด็กและคนสูงวัยมีโอกาสใช้เทคโนโลยีน้อยกว่าคนวัยทำงานและนักเรียน นักศึกษา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นช่องว่างสำหรับการเข้าถึงเทคโนโลยี

 

หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารหรือไอซีที ให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีในมิติของพื้นที่เป็นหลัก จะเห็นโครงการอินเตอร์เน็ตชุมชนที่เน้นการติดตั้งและให้บริการอินเตอร์เน็ตตามหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ แต่ในมิติของอายุแล้ว ยังไม่มีหน่วยงานใดให้ความใส่ใจและเข้ามาช่วยลดช่องว่างที่เกิดขึ้น

 

ทั้ง ๆ ที่ผู้บริหารจากราชการและเอกชน รับรู้กันว่า อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีนั้นเกิดขึ้นและกลายมาเป็นเครื่องมือสำหรับการใช้ชีวิตของคนบางรุ่นบางกลุ่มอายุเท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันกันจนกลายเป็นความเคยชิน และนับวันเทคโนโลยีจะกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการใช้ชีวิตของเด็กที่กำลังเติบโตขึ้น

 

ส่วนคนสูงอายุหรือเกิดก่อนที่เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตจะเข้ามาข้องเกี่ยวในชีวิตประจำวันเล่า เขาเหล่านั้นจะใช้ชีวิตอย่างไร บนสถานะที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วเช่นนี้ และยิ่งไปกว่านั้น ใครหรือหน่วยงานใดควรจะเข้ามาช่วยลดช่องว่างที่นับจะยิ่งกว้างขึ้น เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปทุกวัน

 

คิดว่าผู้อ่านคงไม่ทราบหรือรับรู้มาก่อนว่า มีการจัดตั้งชมรมสำหรับให้ความรู้และอบรมคนสูงวัยให้ก้าวทันเทคโนโลยีขึ้นมานานถึง 12 ปี มาแล้ว โดยชมรมที่ว่านี้ชื่อ “ชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย หรือ Old People Playing Young (OPPY)” จัดตั้งขึ้นโดย คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ผู้ทำหน้าที่ประธานชมรมอีกตำแหน่งหนึ่ง ชมรมนี้ทำหน้าที่เหมือนชุมชนคนสูงวัยที่ต้องการเรียนรู้เท่าทันเทคโนโลยี เนื่องจากคนกลุ่มนี้เปรียบเสมือนเด็กที่ต้องการการเรียนรู้ ต้องการประสบการณ์และความกล้าที่จะทดลองและใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

 

ในห้วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ชมรมนี้มียอดสมาชิกรวม 3,700 คน ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า คนสูงวัยเป็นคนที่ต้องการความเอาใจใส่ดูแลเพราะสภาพร่างกายและความคิดไม่รวดเร็วและแข็งแรงเหมือนคนวัยหนุ่มสาว การจะให้คนสูงวัยไปนั่งเรียนหรืออบรมการใช้งานเทคโนโลยีร่วมกับคนในวัยที่แตกต่างกันจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง คนสูงวัยควรได้รับการอบรมและเพิ่มเติมความรู้ร่วมกับคนในวัยเดียวกัน และลักษณะของการเรียนการสอนจำเป็นต้องใช้เวลาและแบ่งการเรียนการสอนออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ติดตามบทเรียนได้ทุกขั้นตอน

 

คุณหญิงชัชนีจาติกวณิชประธานชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย กล่าวว่า ชมรมโอพีพีวายก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ได้เรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตในบรรยากาศการเรียนที่สนุกสนานและเป็นกันเอง โดยครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการสอนผู้สูงวัย ซึ่งตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมาชมรมโอพีพีวายได้พัฒนา และปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยตลอดเวลา รวมทั้งปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนให้ทันสมัยตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิก โดยสมาชิกที่มีอายุมากที่สุดมีอายุมากถึง 86 ปี

 

นางสาวสุธีรา จำลองศุภลักษณ์ ครูใหญ่ของชมรม OPPY กล่าวว่า ล่าสุดมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนของชมรมโดยผู้สูงวัยยุคใหม่ สนใจที่จะใช้ iPad เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งหลักสูตรการใช้ iPad จะได้รับความนิยมสูงเพราะเป็นอุปกรณ์ที่กำลังถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาและแตกหลักสูตรการใช้งานและอื่นๆ เสริม เนื่องจากเป็นที่รู้กันแล้วว่าอุปกรณ์ที่เรียกว่า “แท็บเล็ต” หรือ iPad นี้มีลูกเล่น ใช้งานได้หลากหลาย ทั้งในด้านธุรกิจ ใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน รวมถึงใช้ในด้านบันเทิง ซึ่งนับวันจะมีการพัฒนาโปรแกรมการใช้งานออกมาอีกหลายอย่าง

 

หลักสูตรการใช้งาน iPad มีระยะเวลาเรียนจำนวน 6 ชั่วโมง แบ่งเป็นเรียนการใช้งานเบื้องต้น จำนวน 3 ชั่วโมงและที่เหลืออีกจำนวน 3 ชั่วโมง ใช้เรียนโปรแกรมการใช้งานแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้เรียนจะเห็นว่าคนสูงวัยต้องการความเอาใจใส่จากผู้สอนสูงมาก ต้องใช้ความอดทนสูง ต้องพูดหรือสอนบ่อย ๆ เพื่อให้รับรู้และจดจำได้ การทำหลักสูตรก็ต้องแยกย่อยออกมาเป็นส่วนๆ และสอนครั้งละไม่มาก เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นคนพิเศษที่ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น จึงต้องใช้เวลามาก

 

ยังไม่หมดแค่นั้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนั้นมีหลายอย่าง ชมรมจึงมีหลักสูตรในการอบรมชนิดอื่น ๆ เช่น หลักสูตรถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล หลักสูตรสังคมออนไลน์ Facebook หลักสูตรสนทนาออนไลน์ด้วย Skype และอื่น ๆ  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก

 

ในระยะยาวชมรม OPPY อาจพัฒนาให้มีหลักสูตรอาชีพและอื่น ๆ ที่สมาชิกสนใจหรืออยากเรียนรู้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเทคโนโลยีทั้งหมด เช่น หลักสูตรการเรียนศิลปะงานประดิษฐ์ กิจกรรมการท่องเที่ยวและการบริการอื่น ๆ ด้วยกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยทำให้คนสูงวัยมีกิจกรรมร่วมกับคนในวัยเดียวกันได้

 

อย่างไรก็ตาม ความพยายามลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีจำเป็นต้องมีหลายส่วนเข้ามาร่วมช่วยกัน เนื่องจากคนสูงวัยเป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะพิเศษ การจัดตั้งชมรมหรือกลุ่มขึ้นมาจะช่วยให้คนกลุ่มนี้มีช่องทางในการพัฒนาศักยภาพให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

 

หนังสือพิมพ์ สยามธุรกิจ
ฉบับวันเสาร์ 31 มีนาคม – อังคาร 3 เมษายน 2555

Visitors: 217,019