OPPY ชมรมผู้สูงวัยหัวใจไฮเทค

ด้วยความเชื่อที่ว่า "ไม่มีใครแก่เกินเรียน" และ "คอมพิวเตอร์คือสิ่งใหม่ที่ช่วยเติมชีวิตให้แก่ผู้สูงวัยทำให้วันนี้ "ชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย" หรือชมรม OPPY (Old People Playing Young Club) ซึ่งก่อตั้งโดย คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ภายใต้การดำเนินงานของฝ่ายเลิร์นนิ่งมีเดีย บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ได้ก้าวเข้าสู่ ปีที่ 8 แล้ว พร้อมด้วยจำนวนสมาชิกมากถึงกว่า 3,000 คน จากการอบรมกว่า 58 รุ่น

 

 

ในวันฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 สมาชิก OPPY ตั้งแต่รุ่นที่ 1 ถึงรุ่น 58 จึงมีโอกาสมาถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าทึ่งที่พวกเขาได้รับจากการเรียนรู้โลกคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต 

 

"สุภัทร์ กิตติภิญโญวัฒน์" สมาชิกรุ่นแรก เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมอบรมหลักสูตรคอมพิวเตอร์กับชมรม OPPY เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เขากลัวคอมพิวเตอร์มาก แม้ว่าจะสนใจ แต่ก็กลัวคอมพิวเตอร์ของลูกที่บ้านก็ไม่กล้าแตะเพราะกลัวทำเสีย จนเมื่อได้เข้ามาใน OPPY ตอนอายุ 50 ปี ก็ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมมาก จากที่เคยเป็นพนักงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ก็ผันตัวเองมาทำธุรกิจส่งออกสินค้าในร้านสะดวกซื้อที่ไปยังประเทศบังกลาเทศ โดยใช้ความรู้ที่ได้จากการอบรมมาประยุกต์ใช้งานจริง ทั้งเรื่องของการใช้คอมพิวเตอร์และการรับส่งอีเมล์ การเริ่มต้นธุรกิจก็ง่ายๆ ไม่ได้ใช้เงินลงทุนมากมาย ไม่มีโกดังสินค้า ไม่มีพนักงาน มีเพียงสมองและสองมือของตนกับภรรยาคู่ชีวิต โดยใช้วิธีติดต่อซื้อสินค้าจากบริษัทค้าส่ง ให้คนของห้างจัดการขนขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือเพื่อส่งถึงลูกค้า โดยเขาติดต่อลูกค้าผ่านอีเมล์ ผ่านไป 4 – 5 ปี มีรายได้จากธุรกิจนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำจนสามารถเกษียณตนเองจากบริษัทได้ก่อนอายุ 60 ปี

 

 

คุณสุภัทร์ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เขาได้ก้าวเข้าสู่ การขายของออนไลน์ผ่าน www.ebay.com มา 4 ปีแล้ว และมีรายได้จากการขายของบนอีเบย์เดือนละ 20,000 บาท โดยเลือกขายสินค้าและของที่ระลึกเกี่ยวกับลูกเสือ อาทิ ป้ายเครื่องหมายสัญลักษณ์ต่าง ๆ แต่ละชิ้นสร้างกำไรไม่ต่ำกว่า 300 บาท หรือบางชิ้นมีกำไรให้ถึง 10,000 บาท เพราะของเหล่านี้มีผู้นิยมสะสมอยู่ทั่วโลก เคล็ดลับในการทำธุรกิจบนอีเบย์ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการรู้ว่าจะขายอะไร โดยยึดความเชี่ยวชาญของตนเองเป็นหลัก ไม่ได้เลือกสินค้าตามกระแสของตลาดเพียงอย่างเดียว เรียกว่าเป็นการผันงานอดิเรกให้เป็นเงินนั่นเอง

 

“ตอนนี้แค่เงินที่ได้จากธุรกิจส่งออกและอีเบย์ก็อยู่ได้อย่างสบายๆ แถมยังมีเงินเหลือไปงานชุมนุมลูกเสือโลกที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีก ซึ่งทั้งหมดได้มาจากการเข้าเป็นสมาชิกในชมรม OPPY ซึ่งให้ความรู้แก่ผู้สูงวัย”

 

ด้าน “นฤวร  ปันยารชุน” ผู้บริหารสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ประเทศไทย ที่ยังสดใสกระฉับกระเฉงเหมือนคนอายุ 40 แม้วัยจะเข้าสู่เลข 6 แล้วก็ตาม เปิดใจว่า เมื่อก่อนใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นเลย ให้เลขาฯ ทำให้ทุกอย่าง ทำให้รู้สึกว่าตัวเองโง่กว่ารุ่นน้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนเองรับไม่ได้เลย ทำให้ตนรู้สึกแย่มาก แต่พอเข้ามาในชมรม OPPY ตอนนี้สามารถบอกลูกน้องได้ว่าควรต้องทำ ต้องแก้ไขอะไรอย่างไร เพื่อให้งานออกมาดีขึ้นจึงรู้สึกภูมิใจมาก

 

ไม่ใช่ความรู้สึกของคุณนฤวรคนเดียว แต่เป็นความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่ก้าวเข้ามาในชมรม OPPY ทุกคนมีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน คือ รู้สึกว่าตนมีปมด้อย ขาดความภาคภูมิใจในตนเองแต่เมื่อได้เรียนรู้และเข้าใจเทคโนโลยีจึงเท่ากับเติมเต็มสิ่งที่ขาดของพวกเขาได้

 

คุณหญิงชัชนี  จาติกวนิช ประธานชมรม OPPY กล่าวว่า ทั่วโลกเป็นห่วงผู้สูงวัยขณะที่เรื่องเทคโนโลยีไฮเทคเป็นสิ่งที่ผู้สูงวัยกลัวและทำให้โลกระหว่างเด็กกับผู้สูงวัยห่างออกจากกัน ดังนั้นความรู้ที่ได้จากการอบรมของ OPPY จะช่วยจรรโลงใจ ช่วยชะลอความแก่ สร้างความบันเทิงและทำให้ผู้สูงวัยมีความสุขได้ในวัยชรา โดยไม่ถูกลูกหลานรังแครังคัด

 

สุธีราจำลองศุภลักษณ์หรือครูเจี๊ยบผู้จัดการอาวุโสฝ่ายเลิร์นนิ่งมีเดียบริษัทล็อกซเล่ย์จำกัด (มหาชน) ครูใหญ่ของชมรม OPPY กล่าวว่า 8 ปีที่ผ่านมา OPPY เปลี่ยนแปลงไปมา เพราะผู้สูงวัยในขณะนี้ แตกต่างจากเมื่อเริ่มก่อตั้งชมรม โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสมาชิกที่เข้าร่วมชมรมขยายไปยังกลุ่มที่ยังทำงานอยู่ เป็นเจ้าของกิจการ เจ้าของธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูง มีความรู้คอมพิวเตอร์มาแล้ว แต่สนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อก้าวให้ทันลูกน้อง และลงมือปฏิบัติได้เองในบางเรื่อง

 

ดังนั้น กิจกรรมของชมรมจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและความต้องการของสมาชิก โดยตอนนี้ได้เพิ่มการอบรมเกี่ยวกับการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัล พร้อมเปิดกว้างให้เพื่อนๆ และครอบครัวของสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมได้ด้วย โดยไม่จำกัดว่าต้องมีอายุ 45 ปีขึ้นไปเท่านั้น เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมของครอบครัวและช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย เพราะสิ่งที่ทำให้สมาชิก OPPY ภูมิใจมากคือ การเข้ามาเรียนแล้วทำให้ลูกอึ้งว่า เดี๊ยวนี้พ่อเราแม่เราไฮเทคขนาดนี้แล้ว หรือแม้แต่การที่สามารถพูดคุยกับลูกหลานเรื่องคอมพิวเตอร์ได้

 

นี่คือความสุขของผู้สูงวัย ที่หัวใจยังเป็นหนุ่มเป็นสาว และเชื่อมั่นว่าโลกคอมพิวเตอร์ไม่จำกัดอยู่เฉพาะเด็กและวัยหนุ่มสาว

 

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 17- 19 กันยายน 2550

Visitors: 213,993