ตามไปดู ผู้เฒ่าไฮเทค ใครว่าผู้สูงอายุ แก่เกินเรียน

การสำรวจประชากร ในเขตกรุงเทพมหานครเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าคนเมืองหลวงมีอายุยืนมากขึ้น โดยข้อมูลที่ยังไม่ยืนยันคือต่อไปคนกรุงเทพฯ อาจมีอายุยืนเฉลี่ยถึง 80 ปี นี่เป็น การสะท้อนถึงการอยู่ดีกินดีของคนเมืองหลวงเมื่อต้องแลกกับค่าครองชีพที่แพงกว่าเมืองอื่น หรือเป็นภาระในอนาคตที่เมืองหลวงแห่งนี้จะต้อง ดูแลผู้สูงวัยที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตผลทางเศรษฐกิจ ด้านหนึ่งสังคมไทยมองผู้สูงวัยว่าเป็นมิ่งขวัญของลูกหลาน แต่อีกด้านถูกมองว่าเป็นผู้เฒ่าชราที่ต้องดูแล เนื่องจากเหตุผลทางด้านสรีระและการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงทำให้คนบางกลุ่มมีทัศนคติในแง่ลบต่อผู้สูงอายุและมองเป็นภาระต่อสังคม แต่ในทางกลับกันจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน จะมีผู้สูงอายุเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เป็นเสาหลักช่วยค้ำจุนในยามวิกฤติ ดูอย่างรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ถูกเปรียบเทียบว่าเป็น "รัฐบาลขิงแก่" เพราะถือว่าคณะบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ปกครองบ้านเมืองยามนี้ล้วนเป็นผู้สูงอายุที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากทั้งนั้น

 

ดังนั้นการจะมองว่าผู้สูงอายุเป็นคนที่เริ่มเข้าสู่วัยที่เรียกได้ว่าสมควรแก่การหยุดพัก และละวางจากภาระหน้าที่จึงไม่ถูกต้องเท่าใดนัก เพราะผู้สูงอายุบางคนแม้จะล่วงเลยวัยเกษียณแล้วก็ตาม ก็ยังมีความสามารถในการทำงาน เช่น เป็นที่ปรึกษา ให้แก่องค์กรเพื่อดึงเอาประสบการณ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ขณะที่ผู้สูงอายุหลายท่านก็ไม่ปล่อยให้เวลาผ่านเลยด้วยการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งศิลปะ ดนตรี ภาษา แม้กระทั่งการศึกษา เรื่องคอมพิวเตอร์และการใช้อินเตอร์เน็ตที่หลายคนว่าเป็น "ยาขม" ของคนโบราณ

 

ปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่เอาเวลาไปนั่งเรียนคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่เป็นเสมือน กลไกหลักในการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งนี้ เพราะภาครัฐและภาคเอกชน ก็ได้ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุด้วยการเปิดอบรมหลักสูตรคอมพิวเตอร์เบื้องต้นและการใช้อินเตอร์เน็ตสำหรับผู้สูงอายุ อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีโครงการ "บำรุงเฝ้าปัญญายืน" ซึ่งเปิดอบรมเรื่องคอมพิวเตอร์สำหรับผู้สูงวัย ชมรมคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตสำหรับผู้สูงวัย หรือ Old People Playing Young Club (OPPY) ซึ่งจัดตั้งโดยเอกชนก็เปิดโครงการต่อเนื่องมาหลายปี หรืออย่างมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีก็มีหลักสูตรคอมพิวเตอร์สำหรับผู้สูงอายุ และยังมีสถาบันอีกมากมายที่เปิดช่องทาง การเรียนรู้ให้กับผู้สูงอายุ

 

คุณสุธีราจำลองศุภลักษณ์หรือครูเจี๊ยบอาจารย์ใหญ่ของชมรมคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตหรือ OPPYผู้บุกเบิกเกี่ยวกับการสอนคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตให้กับผู้สูงอายุ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาสังคมมักมองว่าผู้สูงอายุไม่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์ หรือระบบอินเตอร์เน็ต แต่ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ และมีการกระตุ้นให้เกิดกระแสโดยมีโครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนผู้สูงอายุในเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับจากผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การจัดโปรแกรมการสอนคอมพิวเตอร์นั้นคุณสุธีราบอกว่าต้องจัดให้เข้ากับช่วงของวัย เพราะการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้นอาจดูเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนสำหรับคนบางกลุ่มแต่สำหรับผู้สูงอายุที่มีพัฒนาการช้าลงนั้น ถือว่าเป็นเรื่องต้องมีเทคนิคการสอนโดยยึดหลัก "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" ทำให้มองปัญหาในการสอนคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตกับผู้สูงอายุเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้ อย่างเช่น อธิบายวิธีการใช้เมาส์อย่างละเอียดไว้ในตำราเพื่อให้ผู้เรียนบางกลุ่มที่ไม่คุ้นเคยกับเมาส์ที่มีขนาดเล็กและควบคุมได้ค่อนข้างยาก ซึ่งบางจุดถือเป็นปัญหาที่ละเอียด อ่อนสำหรับผู้สูงอายุ จะไม่เน้นความจำ แต่เน้นความคุ้นเคยและความเข้าใจใช้ศัพท์ที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย โดยเมื่อผู้สูงอายุเริ่มที่จะเรียนรู้ระบบคอมพิวเตอร์ ก็จะให้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เบื้องต้น จากนั้นเริ่มที่เข้าสู่ระบบของอินเตอร์เน็ต อย่างเช่น วิธีการหาข้อมูล ทางอินเตอร์เน็ต การส่งอี-เมล์ รวมไปถึงการเข้าไปชมในเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วย 

 

พล...ดิเรกสังข์สุวรรณหรือคุณลุงดิเรกอดีตข้าราชการทหารและหนึ่งในผู้สูงอายุที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเล่าว่า โดยส่วนตัวเกษียณอายุราชการมานาน และได้ขอให้เข้าไปช่วย เป็นอาจารย์บรรยายในสังกัด ทำให้ต้องคลุกคลีอยู่กับการใช้แผ่นสไลด์ในการประกอบการบรรยาย จึงคิดที่จะใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อใช้คอมพิวเตอร์ เป็นสื่อที่ถ่ายทอดความรู้ของตนไปยังคนอื่น ๆ ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น คุณลุงดิเรกได้ค้นคว้าและศึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลาถึง 6 ปี เกี่ยวกับโปรแกรมต่าง ๆในคอมพิวเตอร์ เพราะเชื่อว่าตนเองเป็นทรัพยากรบุคคลที่เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ และตนก็มีความสนใจที่จะใช้สื่ออิเล็ก-ทรอนิกส์ในการช่วยสอน จึงเริ่มหาสถานที่ศึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สำหรับคนวัยเดียวกัน ทำให้สามารถเรียนรู้ได้เร็วและเข้าใจง่ายขึ้น อย่างทักษะการใช้โปรแกรมต่าง ๆ เช่น Microsoft PowerPoint, Microsoft Excel ที่สามารถไปช่วยสร้างเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของตนให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ลุงดิเรกยังมีความสนใจในโปรแกรม Photoshop เป็นพิเศษเนื่องจากช่วยในการตกแต่งภาพซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตนมีความชอบอยู่แล้ว โดยสามารถทำการ์ดอวยพร ทำลูกเล่นในลักษณะต่าง ๆ รวมไปถึงการค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต และการส่งอี-เมล์ไปให้บุคคลอื่น ๆ ด้วยจะเห็นได้ว่ายังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนไม่น้อยที่มีไฟในการทำงานอย่าง ไม่หยุดนิ่ง มีพลังในการศึกษาเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้กับตนเอง แม้จะถูกมองว่า เป็นไม้ใกล้ฝั่งแล้วก็ตาม แต่เชื่อได้ว่าหัวใจของผู้ที่ใฝ่รู้นั้น ย่อมไม่มีสิ่งใดที่จะหยุดยั้งได้ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 27 (7)
ฉบับที่ 315 วันที่ 15 - 18 เมษายน 2550

Visitors: 217,019