ตัวเลขเป็นแค่วัย แต่หัวใจขอไฮเทค

จากโทรศัพท์มือถือรูปลักษณ์กระติกน้ำขนาดใหญ่ยักษ์ เวลาไปไหนเหมือนพกบ้านไปด้วย จากคอมพิวเตอร์จอเขียวๆ ขนาดเบิ้มใช้งานยุ่งยาก ประมวลผลข้อมูลชักช้า มาเป็นโทรศัพท์มือถือที่รวบรวมมัลติมีเดีย จะใช้โทรรับส่งข้อความภาพถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอก็ได้ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตรวดเร็วทันใจ เพียงเวลาผ่านไปไม่กีปี เทคโนโลยีผลัดเปลี่ยนเหมือนจรวดติดไอพ่น แค่บางคนก็ตามไม่ค่อยจะทัน แถมบ้างคนก็ต่อต้านเทคโนโลยี ไม่ยอมแม้แต่จะแตะ หากต้องใช้งานจริงๆ คนรอบข้างนั่นแหล่ะที่ต้องเข้ามาให้การช่วยเหลือ ... อย่าว่าแต่คนสูงอายุ 50 - 60 ปีขึ้นไปเลย อาการแบบนี้ก็พบบ่อยในระดับผู้บริหารหลายคนที่อายุเพียง 30 - 40 ปีเท่านั้นเอง

 

นิภา ชำนาญวิทยากุล อายุ 60 ปี สมาชิกชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย (Old People Playing Young หรือ OPPY) ชมรมที่เปิดสอนคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ที่อายุ 45 ปีขึ้นไป เล่าให้ฟังถึงอดีตก่อนที่จะมาเรียนรู้เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ว่า "เมื่อก่อนเมื่อใครพูดถึงคอมพิวเตอร์เราก็จะไม่รู้เรื่องเลย และตัวเราก็คิดว่ายากมาก ไม่กล้าที่จะแตะคอมพิวเตอร์กลัวจะเสียบ้าง กลัวข้อมูลที่อยู่ข้างในจะลบออกไปบ้าง"อาการเยี่ยงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับนิภาคนเดียว เพราะเพื่อนนักเรียนรุ่นเดอะอีกหลายคยก็เป็นอาการหวาดกลัวอุปกรณ์ไฮเทคเหมือนกัน

 

นักเรียนรุ่น 29 ห้อง 2 ของชมรมโอพีพีวาย นำทีมโดย สมถวิล วงษ์สุวรรณ สุมาลีอภัยลี (ไม่ขอระบุวัย) ประวิทย์ อายุ 64 ปี พล.ต.ท.ประเวสน์ คุ้มภัย อายุ 64 ปี วรสิทธิ์ อายุ 67 ปี ที่ผลัดกันเล่าให้ฟังพอสรุปปัญหาของ "ช่องว่างดิจิทัล" ได้ว่า ขาดโอกาสและเวลาในการเรียนรู้คอมพิวเตอร์

 

"เนื่องจากว่าเราต้องทำงานจึงไม่มีเวลามาเรียนรู้คอมพิวเตอร์ และหากจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน ผมจึงมักจะไหว้วานลูกน้องให้ช่วยทำให้" สมาชิกรายหนึ่งกล่าว

 

นอกจากนี้ อาการหวาดกลัวอุปกรณ์ไฮเทคยังเกิดจากคนรอบข้างที่มักพูดข่มขู่เอาด้วย "ลูกๆ เขาขู่ว่ายากนะคอมพิวเตอร์เนี่ย เราก็ไม่กล้าแตะ พอเราจะใช้งานก็ให้เขาสอน ซึ่งเด็กเขาก็ไม่เข้าใจเราว่าต้องสอนอย่างไร เพราะเวลาสอนเราจะไปได้ช้ามาก พอเขาสอนเร็วเราก็ไม่เข้าใจ เราก็จำไม่ไหว พอผ่านไปซัก 2 วันเราไปถามลูกใหม่ ที่นี้ก็จะมองหน้าเราแล้ว ว่าก็สอนไปแล้วทำไมจำไม่ได้ ถ้าให้เราไปเรียนในโรงเรียนที่เปิดสอนคอมพิวเตอร์อยู่ทั่วไปก็เรียนไม่ไหวเพราะมีแต่เด็กๆ หากเราไปเรียนแล้วตามเขาไม่ทันเขาก็จะรำคาญ

 

แรงบันดาลใจให้เข้ามาเกาะติดเทคโนโลยี

ถึงแม้ว่าเพื่อนร่วมชั้นหลายคนจะมีวัยเกษียณราชการไปแล้วก็ตาม แต่การอาศัยอยู่ในสังคมโดยอย่างยิ่งเฉพาะในสังคมเมืองหลวง ที่มองไปทางไหนก็ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานหรือติดต่องานทั้งนั้น ทำให้คนทุกเพศ ทุกวัย ต่างขวนขวายหาความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม

 

สำหรับนักเรียนรุ่น 29 ห้อง 2 ของชมรมโอพีพีวายแต่ละคนก็มีเหตุผลแตกต่างกันออกไป บางคนก็เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในการทำงาน บางคนก็นำไปใช้เพื่อหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตในการศึกษาระดับปริญญาโท หรือแม้แต่เพื่อติดต่อกับลูกหลานที่อยู่ต่างประเทศ 

 

เสียงจากทางฝ่ายหญิงเปิดใจ "ลูกๆ บอกว่าเราไม่ค่อยทันสมัย เราก็ต้องทันสมัยหน่อย เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย เห็นลูกเปิดคอมพิวเตอร์ เราก็ดูไม่เป็น เรียนรู้ไว้จะได้ทันลูกแล้วจะได้นำไปใช้เรียนปริญญาโทด้วยใช้หาข้อมูลจากเว็บไซต์ ทำรายงาน คงรอพึ่งแต่คนอื่นคงไม่ได้ หรือว่าไปถามลูกมากๆ เขาก็รำคาญ เพราะตอนรุ่นเรายังไม่มีเราก็ใช้ไม่เป็นเหมือนเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ได้ตั้งแต่อนุบาล"

 

สมาชิกฝ่ายชายอีกรายหนึ่งกล่าวถึงเหตุผลในการเข้ามาเรียนคอมพิวเตอร์ในวัยโพล้เพล้ว่า "สังคมเปลี่ยนไป โลกเก่าขึ้น มีแต่คนเท่านั้นที่เปลี่ยนไป รวมทั้งมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เขามาทำให้เราสะดวกสบายขึ้น คนยังคงใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ต่อไป และเทคโนโลยีต่างๆ เปลี่ยนไปไวมาก หากเราโดดเข้าไปเกาะเร็ว ก็จะเรียนรู้ได้เร็ว ถ้าปล่อยให้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปมากกว่านี้ เราก็จะทำความเข้าใจยากขึ้น ลำบากในการเรียนรู้ จะทำให้คนวัยอย่างเราเบื่อกันไปใหญ่"

 

ถึงจะดูเข้าใจยากสำหรบผู้ที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำ เมื่อลองมาเรียนเข้าจริงๆ นักเรียนรุ่น 29 ห้อง 2 ของชมรมโอพีพีวาย ที่เพิ่งเริ่มเรียนคอมพิวเตอร์มาได้เพียง 3 ครั้งเท่านั้นกลับบอกว่า "เมื่อเข้ามาเรียนกลับรู้สึกว่าสนุก เหมือนว่าเป็นหนุ่มเป็นสาวมากขึ้นอย่างนั้นแหล่ะ และยิ่งได้เรียนกับคนวัยเดียวกันยิ่งสบายใจ เพราะต่างคนก็ต่างไม่เข้าใจเหมือนกัน และไปได้ช้าพอๆ กัน เราจึงรู้สึกว่าการเรียนคอมพิวเตอร์ไม่ได้ยากอย่างที่คิดเสียหน่อย กลับสนุกด้วยซ้ำ"

 

นอกจากสมาชิกใหม่ของโอพีพีวายแล้ว คุณโสภา อิ่มแช่ม อายุ 54 ปี ผู้ที่เป็นสมาชิกอาวุโสเรียนจบคอร์สแล้วยังมาแจมให้ความเห็นอีกด้วยว่า "เป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย เราคุยกับลูกหลานรู้เรื่อง ทั้งเรายังมีลูกหลานที่อยู่เมืองนอกด้วยก็ทำให้ได้ส่งอีเมล์ อีการ์ดหาเขาได้ ทำให้เราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น มีอยู่คนหนึ่งในรุ่นเดียวกันเขาอายุ 80 ปี เขาส่งอีการ์ด อีเมล์ ไปหาหลานที่เมืองนอกได้ เขารู้สึกดีใจมากเลยนะ หลานเขาก็แปลกใจ หลังจากนั้นเขาก็บอกว่าเขาไม่ว่างแล้วนะ ต้องส่งอีเมล์หาหลานทุกวัน"

 

ไม่เพียงแต่ใช้รับส่งข่าวสารกับลูกๆ หลานเท่านั้น คุณโสภายังใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์โดยการเข้าไปดูข้อมูลต่างๆ จากเว็บไซต์ อย่างเช่นจะปลูกต้นไม้ก็เข้าไปดูเว็บไซต์ทางด้านนี้ หรือจะไปเที่ยวที่ไหนก็หาข้อมูลจากทางอินเทอร์เน็ตได้ คุณโสภายกตัวอย่างและกล่าวว่า ช่วยให้หูตากว้างไกลขึ้น ทั้งยังได้เพื่อนเพิ่มมากขึ้นจากการมาเรียนคอมพิวเตอร์อีกด้วย เพื่อนเก่าสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาด้วยกันก็มาเรียนคอมพิวเตอร์ด้วยกันที่นี่ ทำให้เป็นกลุ่มที่แคบมากขึ้น และหากเพื่อนหรือหลานๆ เรียนไม่รู้เรื่อง ก็นความรู้ที่มีอยู่ไปช่วยสอนเพื่อนๆ หรือหลานได้อีก

 

เทคโนโลยีส่วนหนึ่งของชีวิต

เพราะเทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราแล้วหลายคนจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าไปเรียนรู้ "อีกหน่อยจดหมายก็จะไม่มีแล้ว ต่อไปจะไม่มีฟิล์ม เราก็ควรเข้ามาเรียนรู้ไว้ ในด้านการเรียนรู้คนเราเรียนกันได้ตลอดชีวิต เพื่อนำมาพัฒนาตนเองและเทคโนโลยีก็มีหลายอย่าง บางเรื่องก็จำเป็นหรือไม่จำเป็นต่อเรา เราก็ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีให้เป็น ไม่ยอมให้เทคโนโลยีมาบดบังจิตใจ อย่างเด็กสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในการเล่นเกมแล้วทำให้ก้าวร้าวมากขึ้น เราที่เป็นผู้ใหญ่รู้ว่าอะไรดีไม่ดี เหมาะควร ถ้าหากเข้ามาเรียนรู้ไว้ก็จะแนะนำลูกๆ หลานๆ ได้" คุณโสภาให้ข้อคิด

 

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับที่ 5404 (366) วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 2546
เรื่อง: อังฉรา สาสุข

Visitors: 214,026