อินเทอร์เน็ตไม่เกี่ยงวัย

เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งรวมความรู้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทฤษฎีที่ว่า คนเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต จึงเป็นที่มาของการเปิดชมรม โอพีพีวายคลับ เพื่อให้ผู้สูงวัยตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ได้เรียนรู้เทคโนโลยีร่วมสมัย และใช้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งความรู้ขนาดใหญ่ในโลกไซเบอร์ คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ประธานชมรมโอพีพีวายคลับ เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้ขยายโอกาสให้แก่ผู้สูงอายุทั้งหลายได้รู้จักใช้อินเทอร์เน็ต โดยเริ่มต้นจากความสนใจในเทคโนโลยีใหม่นี้ที่กำลังก้าวเข้าสู่แต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับความเป็นจริงในสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนไป ผู้สูงอายุต้องทำกิจกรรมเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและสังคมมากยิ่งขึ้น


คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช

 

"ผู้สูงอายุทุกวันนี้ มักไม่มีอะไรทำ พอไม่มีอะไรทำก็จะคิดถึงแต่เรื่องของตัวเองมากเกินไปและเกิดภาวะเศร้าหมอง จนบางครั้งต้องเรียกร้องความสนใจจากลูกหลาน จนเกิดเป็นปัญหาส่วนเกินของครอบครัวในที่สุด การทำเป็นชมรมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีสังคม และสามารถค้นหาข้อมูลที่สนใจได้ แถมยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ผู้สูงอายุคุยกับลูกหลานในเรื่องเดียวกันได้"

 

..สุธีรา จำลองศุภลักษณ์ ผู้จัดการด้านการฝึกอบรม กล่าวว่า ในการสอนผู้สูงอายุนั้น ต้องสอนตั้งแต่เริ่มแรก และใช้ภาษาที่ง่ายที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้สูงวัยที่เข้ามาเรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ตมักใช้เช็คจดหมาย เข้าไปในเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อค้นหาข้อมูล ตำราอาหาร พิมพ์ข้อความในไมโครซอฟท์เวิร์ด และอ่านข่าวประจำวัน แม้ว่ารุ่นนี้จะเป็นเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว และมีการเก็บค่าสมาชิก และค่าสอน 4,000 บาท รวมค่ากิจกรรมภายนอกอื่นๆ ก็มีผู้เรียนตามเป้าหมาย 48 คน ในขณะที่รุ่นที่ 2 ซึ่งเก็บค่าสมาชิกรายปี 2,500 บาท มีมากถึง 280 คน นับว่าประสบความสำเร็จในการสอนและผู้สูงอายุมักจะต่ออายุการเป็นสมาชิก เพื่อขอเรียนซ้ำแล้ซ้ำอีก และได้พบเพื่อนในวัยเดียวกันด้วย ขณะนี้ผู้ที่เป็นสมาชิกอายุสูงสุดถึง 87 ปี

 

ผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่เป็นนักธุรกิจและข้าราชการมาก่อน มีความพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษดี และมีลูกหลานที่ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่บ้านด้วย พล.อ.ต.ประสาน ดารานนท์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพล และคุณณรงค์ ลินสายควน หัวหน้าฝ่ายผลิตย้อมและการตลาด บริษัท คงคาเท็กซ์ไทส์มิมส์ จำกัด สมาชิกใหม่ของชมรม ต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า การเข้าค้นหาข้อมูลอินเทอร์เน็ตจะเข้าไปเฉพาะเว็บไซต์ที่สนใจ เช่น เรื่องกอล์ฟ การแพทย์ เรื่องธุรกิจสิ่งทอ ซึ่งคุณณรงค์กล่าวว่า มีลูกๆ เล่นอินเทอร์เน็ตก็ไม่เคยเข้าไปก้าวก่ายในการตรวจสอบหรือจำกัดเวลาใช้ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล ถ้าจะมีการเข้าไปดูเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ก็ต้องเป็นวิจารณญาณของแต่ละคน เพราะคงจะเข้าไปคุมเข้มไม่ได้ แต่การเรียนรู้อินเทอร์เน็ตจะทำให้การพูกคุยกันในครอบครัวมีมากขึ้น เพราะสามารถคุยในเรื่องเดียวกันได้

 
พล.อ.ต. ประสาน ดารานนท์

 

ไม่มีช่องว่างระหว่างวัยถ้าคนในสังคมต่างให้โอกาสกัน

 

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2543
เรื่อง: อ้อมสรวง

 

Visitors: 217,017